มหาวิทยาลัยพะเยา พัฒนาทักษะเชิงพื้นที่แก่บุคลากร มุ่งสู่การเป็นผู้นำมหาวิทยาลัยกลุ่ม 3 อย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยพะเยา พัฒนาทักษะเชิงพื้นที่แก่บุคลากร มุ่งสู่การเป็นผู้นำมหาวิทยาลัยกลุ่ม 3 อย่างยั่งยืน

          วันพุธที่ 21 พฤษภาคม 2568 มหาวิทยาลัยพะเยา จัดโครงการอบรมทักษะเชิงพื้นที่สำหรับบุคลากร เพื่อยกระดับศักยภาพบุคลากรในการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายสู่การเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่ม 3 ที่ขับเคลื่อนงานเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน การอบรมจัดในรูปแบบ Onsite ณ ห้อง UB001 อาคาร 99 ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ และ Online ผ่าน Microsoft Teams และ Zoom มีผู้เข้าร่วมรวมทั้งสิ้น 1,020 คน แบ่งเป็นบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยพะเยา 330 คนแบบ Onsite และ 690 คนแบบ Online พร้อมด้วยบุคลากรจากมหาวิทยาลัยกลุ่ม 3 จำนวน 125 คนที่เข้าร่วมรับฟังผ่านระบบ Zoom

          โครงการดังกล่าว จัดขึ้นโดยกองการเจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งในพิธีเปิดนายสมทบ เหล็กสิงห์ ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ กล่าวรายงาน ถึงวัตถุประสงค์และความเป็นมาในการจัดงาน และรองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมมอบทุนสนับสนุนการดำเนินงานเชิงพื้นที่ (Work from Area) ให้กับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรสามารถประยุกต์ใช้ทักษะเชิงพื้นที่ในการปฏิบัติงานร่วมกับชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่มหาวิทยาลัยกำหนดให้บุคลากรต้องมีในระดับไม่น้อยกว่าระดับ 2

           ภายในงานมีการบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ฑีฆสกุล ประธานอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย บรรยายหัวข้อ “ความคาดหวังในการพลิกโฉมระบบบริหารงานบุคลากรในมหาวิทยาลัยกลุ่ม 3 ของมหาวิทยาลัยนำร่อง” จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา บรรยายหัวข้อ “การพัฒนาบุคลากรเชิงพื้นที่บนฐาน SDGs และ Work from Area” พร้อมกิจกรรม Workshop และจากนั้นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค ผู้ช่วยอำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) บรรยายถ่ายทอดความรู้ในหัวข้อ “SDGs กับมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่: แนวคิด การดำเนินการ และดัชนีชี้วัด”

            มหาวิทยาลัยพะเยาในฐานะสถาบันอุดมศึกษากลุ่ม 3 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการพัฒนาระบบบริหารงานบุคลากรเชิงรุก สู่การพลิกโฉมมหาวิทยาลัยกลุ่มการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น (Area-Based and Community Engagement) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยสร้างปัญญาเพื่อนวัตกรรมชุมชน สู่สากลอย่างยั่งยืน” และปณิธาน “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” สะท้อนบทบาทของมหาวิทยาลัยที่มุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะเชิงพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในระดับพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

 
  

facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :   พิศุทธ์ จิโรจน์กุล งานสื่อสารองค์กร   
ข้อมูล/ข่าว :    ธิดาเดือน อุตยานะ งานสื่อสารองค์กร   
เพิ่มข่าวโดย :   tidaduen.ut@up.ac.th   
21/05/2568 21:51 น. (26 วันที่แล้ว)

สถิติการอ่านข่าวนี้
วันนี้: 14 ครั้ง | เมื่อวาน: 12 ครั้ง | เดือนนี้: 54 ครั้ง | ปีนี้: 54 ครั้ง | รวม: 54 ครั้ง