นโยบาย "No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่"

8/12/2565 19:08:45น. 1961
No Gift Policy

นโยบาย "No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่"


หลักการ

การทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยและนานาประเทศ โดยเฉพาะในประเทศไทยมีปัจจัยสำคัญและมีสาเหตุมาจากระบบอุปถัมภ์ ส่งผลให้เกิดค่านิยมที่ไม่ถูกต้องทั้งการให้หรือรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อตอบแทนหรือจูงใจให้เกิดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม การใช้ดุลยพินิจหรือการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบในรูปแบบต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นจากคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CPI 2021) ประจำปี พ.ศ.2564 ซึ่งของประเทสไทยได้ 35 คะแนน จัดอยู่ในลำดับที่ 110 จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก อยู่ในลำดับที่ 21จากจำนวน 31 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ ลำดับที่ 5 จากจำนวน 9 ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน

ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้สรุปข้อเสนอจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่ได้มีข้อเสนอแนะสำคัญต่อประเทศไทย จำนวน 4 ประเด็น คือ

  1. ส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ เพื่อเป็นพลังในการตรวจสอบการทุจริต รัฐบาลควรที่จะจัดการในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน และส่งเสริมการต่อสู้ประเด็นสิทธิมุนษยชนในกระบวนการยุติธรรม ให้เป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วน
  2. สร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานตรวจสอบการทุจริต โดยขยายโครงสร้างหน่วยงานต่อต้านการทุจริต และหน่วยงานตรวจสอบอื่นๆ ให้มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล เพื่อระงับยับยั้งการกระทำการทุจริต โดยรัฐสภาและศาล ควรที่จะเฝ้าระวัง ป้องกันเพื่อมิให้ เจ้าหน้าที่กระทำการเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่
  3. การปราบปรามการทุจริตข้ามชาติ รัฐบาลควรปรับปรุงจุดอ่อนของระบบที่เป็นช่องทางของการทุจริตข้ามชาติ อาชญากรรมทางการเงิน โดยล์ดช่องว่างทงกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่กระทำการทุจริตต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
  4. สนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนำไวรัส (Covid 19) ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติวาระพิเศษว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations General Assembly Special session : UNGASS  เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 กำหนดให้ภาครัฐต้องให้สัตยาบรรณว่าต้องมีการป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งการมีความโปร่งใส่ในการใช้จ่ายงบประมาณที่ดียิ่งจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น

ประกอบกับเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยมีระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CPI) อยู่ใน 20 อันดับแรกของโลกภายในปี 2579 จึงมีมาตรการควบคุมกำกับ ติดตาม การบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภาครัฐให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ ยกระดับการบังคับใช้มาตรการทางวินัย มาตรการทางปกครอง ปรับปรุงประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรม และให้มีกลไกที่เหมาะสมในการ ประสานงานป้องกันและปราบปรามกรทุจริตประพฤติมิชอบในระดับนโยบายยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อให้ประเทศไทยปลอดทุจริต โดยในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยยะสำคัญ (Big Rock) เพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศมีผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ มีกิจกรรมปฏิรูปที่สำคัญในกิจกรรมปฏิรูปที่ 4 การพัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ ในเป้าหมายที่ 1 ข้อ 1.1 ให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยประกาศตนเป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) ดังนั้น จึงมีนโยบายให้หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการให้ เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่” หรือที่เรียกว่า นโยบาย “No Gift Policy”

 

นิยามศัพท์และกฎหมาย/ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย “No Gift Policy”

 

นิยามศัพท์เฉพาะที่เกี่ยวข้อง

เจ้าหน้าที่ของรัฐ หมายถึง ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐหรือในรัฐ ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่หรือเจ้าพนักงานอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติและให้หมายความรวมถึง กรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจและบุคคลหรือคณะบุคคลธรรมดา ซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้ใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐด้วย (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4)

หน่วยงานของรัฐ หมายถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนกลางหน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล หน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานของอัยการองค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ กองทุน สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานอื่นๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (กลุ่มงานส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐ กองป้องกันการทุจริตในภาครัฐ.สรุปความหมาย.วันที่ 19 ธันวาคม 2564)

ทุจริตต่อหน้าที่ หมายถึง ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่นหรือกระทำการอันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาหรือตามกฎหมายอื่น (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2563 มาตรา 4)

การปฏิบัติหน้าที่ หมายถึง เป็นการกระทำหรือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง หรือให้รักษาราชการแทนในหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งทั้งเป็นการทั่วไปและเป็นการเฉพาะในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กฎหมายได้กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ หรือเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายระบุไว้ให้มีอำนาจหน้าที่ หรืออำนาจหน้าที่ทางปกครอง (กลุ่มงานส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐ กองป้องกันการทุจริตในภาครัฐ.สรุปความหมาย.วันที่ 14 ชันวาคม 2564)

การประกาศตน หมายถึง การประกาศเจตนารมณ์ของผู้บริหารสูงสุดขององค์กรเพื่อให้บุคคล หรือหน่วยงาน หรือสังคม หรือสาธารณชน รับรู้ว่า ตนเองและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนในหน่วยงาน จะไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดในขณะ / ก่อน / หลัง ปฏิบัติหน้าที่ ที่จะส่งผลให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในปัจจุบันและอนาคต และมีการเผยแพร่ประกาศดังกล่าวสู่สาธารณะในรูปแบบต่างๆ ตามบริบทของแต่ละหน่วยงาน เช่น การส่งหนังสือเวียน การจัดทำ Infographic จัดทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ และต้องมีการเผยแพร่ประกาศฯ ใน Website หลักของหน่วยงาน (กลุ่มงานส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐ กองป้องกันการทุจริตในภาครัฐ.สรุปความหมาย.วันที่ 3 มิถุนายน 2564)

ของขวัญที่ส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ หมายถึง เงิน ทรัพย์สิน บริการหรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าและให้รวมถึงทิป โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับนอกเหนือจากเงินเดือน รายได้ ผลประโยชน์จากราชการในกรณีปกติและมีผลต่อการตัดสินใจ การอนุมัติ อนุญาต หรือการอื่นใดในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ไปในทางทุจริตต่อผู้ให้ของขวัญทั้งในอดีต หรือในขณะรับ หรือในอนาคต เช่น การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐรับของขวัญจากบริษัทเอกชน แล้วมีส่วนช่วยให้บริษัทเอกชนนั้นเป็นผู้ชนะการประมูลงานก่อสร้างของหน่วยงานตนเอง หรือกรณีเข้าไปเป็นที่ปรึกษาและรับค่าตอบแทนของบริษัทเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุม ตรวจสอบของหน่วยงานรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่อยู่ ส่งผลกระทบต่อความมีอิสระในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นให้เปลี่ยนแปลงไปในทางทุจริต เป็นต้น (กลุ่มงานส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐ กองป้องกันการทุจริตในภาครัฐ.สรุปความหมาย.วันที่ 1 เมษายน 2564)

ทิป (Tip)” หมายถึง เงินที่ผู้มาติดต่อขอใช้บริการกับหน่วยงานของรัฐ หรือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มอบให้หน่วยงานของรัฐ หรือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเพิ่มเติม เพื่อตอบแทนการให้บริการจากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกตินั้น ซึ่งมิใช่ค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าให้รับได้ (กลุ่มงานส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐ กองป้องกันการทุจริตในภาครัฐ.สรุปความหมาย.วันที่ 1 เมษายน 2564)


กฎหมาย/ระเบียบที่เกี่ยวข้อง

1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

มาตรา 76 กำหนดให้รัฐพึงพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นและงานของรัฐ อย่างอื่นให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยหน่วยงานของรัฐต้องร่วมมือและช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทําบริการสาธารณะและการใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน รวมตลอดทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีทัศนคติเป็นผู้ให้บริการประชาชนให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ และปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ

รัฐพึงดําเนินการให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม โดยกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อํานาจหรือกระทําการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือกระบวนการแต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกําหนดประมวลจริยธรรมสําหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้น ๆ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว


2.พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐไว้ในหมวดที่ 1 มาตรฐานทางจริยธรรม มาตรา 5 (4) กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ (6) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ


3.ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือการรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐพ.ศ. 2544

ของขวัญ หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่กันเพื่ออัธยาศัยไมตรี และให้หมายความรวมถึง เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้เป็นรางวัลให้โดยเสน่หา หรือเพื่อการสงเคราะห์ หรือให้เป็นสินน้ำใจ การให้สิทธิพิเศษซึ่งมิใช่เป็นสิทธิที่จัดไว้สำหรับบุคคลทั่วไปในการได้รับการลดราคาทรัพย์สินหรือการให้สิทธิพิเศษในการได้รับบริการหรือความบันเทิง ตลอดจนการออกค่าใช้จ่าย ในการเดินทาง หรือท่องเที่ยว ค่าที่พักคำาอาหาร หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกันและไม่ว่าจะให้เป็นบัตร ตั๋ว หรือหลักฐานอื่นใด การชำระเงินให้ล่วงหน้า หรือการคืนเงินให้ในภายหลัง


4.ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2549

ข้อ 6 หน่วยงานของรัฐจะจัดให้มีการเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรมิได้ เว้นแต่เป็นการเรี่ยไรตามข้อ 19 หรือได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (กคร.) หรือ กคร.จังหวัด แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ หน่วยงานของรัฐซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตในการเรี่ยไรตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรนอกจากจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรแล้ว จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ด้วย ในกรณีนี้ กคร. อาจกำหนดแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐดังกล่าวให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรก็ได้

ข้อ 18 การเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรที่ กคร. หรือ กคร.จังหวัด แล้วแต่กรณีจะพิจารณาอนุมัติให้ตามข้อ 6 ได้นั้นจะต้องมีลักษณะและวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) เป็นการเรี่ยไรที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐนั้นเอง

(2) เป็นการเรี่ยไรที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่การป้องกันหรือพัฒนา

(3) เป็นการเรี่ยไรที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์

(4) เป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรของบุคคลหรือนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรตามกฎหมายว่ด้วยการควบคุมการเรี่ยไรแล้ว

ข้อ 19 การเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรดังต่อนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องขออนุมัติจาก กคร. หรือ กคร.จังหวัด แล้วแต่กรณี

(1) เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และมีมติคณะรัฐมนตรีให้เรี่ยไรได้

(2) เป็นการเรี่ยไรที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องด าเนินการ เพื่อช่วยเหลือผู้เสียหาย หรือบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากสาธารณภัยหรือเหตุการณ์ใดที่สำคัญ

(3) เป็นการเรี่ยไรเพื่อร่วมกันทำบุญเนื่องในโอกาสการทอดผ้าพระกฐินพระราชทาน

(4) เป็นการเรี่ยไรตามข้อ 18 (1) หรือ (3) เพื่อให้ได้เงินหรือทรัพย์สินไม่เกินจำนวนเงินหรือ มูลค่าตามที่ กคร. กำหนดโดยประกาศในราชกัจจานุเบกษา

(5) เป็นการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรตามข้อ 18 (4) ซึ่ง กคร. ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยกเว้นให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุมัติ

(6) เป็นการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐอื่นที่ได้รับอนุมัติหรือได้รับยกเว้นในการขออนุมัติ ตามระเบียบนี้แล้ว


5.มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 มกราคม 2540 ให้ถือปฏิบัติว่าข้าราชการชั้นผู้น้อย พึงงดการให้ของขวัญแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้บังคับบัญชา หรือสมาชิกในครอบครัวของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หากฝ่าฝืนมติ คณะรัฐมนตรีให้ถือว่ามีความผิดวินัย ทั้งผู้ให้และผู้รับ


6.มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 เห็นชอบในการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติเสนอ โดยกำหนดให้มีการขับเคลื่อนการดำเนินการตามกิจกรรมปฏิรูปฯที่สำคัญ (Big Rock) กิจกรรมปฏิรูปที่ 4 พัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ ในเป้าหมายที่ 1 ข้อ 1.1 ให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย ประกาศตนเป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน ไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy)


 -------------------------------------

ภาคผนนวก


คำถาม-คำตอบ

แนวทางการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ การประกาศนโยบาย No Gift Policy

-------------------------------------


1. “การปฏิบัติหน้าที่” ตามความหมายของแนวทางการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ การประกาศนโยบาย No Gift Policy หมายถึงอะไร

คำตอบ : เป็นการกระทำหรือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง หรือให้รักษาราชการแทนในหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง ทั้งเป็นการทั่วไปและเป็นการเฉพาะในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กฎหมายได้กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้หรือเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมาย ระบุไว้ให้มีอำนาจหน้าที่ หรืออำนาจหน้าที่ทางปกครองของบุคคลนั้นๆ


2. การประกาศตนเป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน ไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) คืออะไร

คำตอบ : คือ การประกาศเจตนารมณ์ของผู้บริหารสูงสุดขององค์กรเพื่อให้บุคคล หรือหน่วยงาน หรือสังคม หรือสาธารณชน รับรู้ว่า ตนเองและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนในหน่วยงานจะไม่รับของขวัญ และของกำนัลทุกชนิด ในขณะ / ก่อน / หลัง ปฏิบัติหน้าที่ที่จะส่งผลให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในปัจจุบันและอนาคต และมีการเผยแพร่ประกาศดังกล่าวสู่สาธารณะในรูปแบบต่างๆ ตามบริบทของแต่ละหน่วยงาน เช่น การส่งหนังสือเวียน การจัดทำInfographic จัดทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ และต้องมีการเผยแพร่ประกาศฯ ใน Website หลักของหน่วยงาน โดยในประกาศฯดังกล่าวอย่างน้อยจะต้องมีข้อความ “เป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่” ในประกาศฯ นั้นด้วย


3. หน่วยงานภาครัฐที่ต้องประกาศตนเป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน ไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) ในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) คือ หน่วยงานใดบ้าง

คำตอบ : ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้นำเป้าหมายของกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) กิจกรรมปฏิรูปที่ 4 พัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ เป้าหมายที่ 1 ข้อ 1.1 ให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยประกาศตนเป็น หน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่(No Gift Policy) ไปกำหนดเป็นข้อคำถามการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ทำให้หน่วยงานภาครัฐจำนวน 8,303 หน่วยงานที่ต้องเข้าร่วมการ ประเมิน ITA ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต้องประกาศตนเป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนไม่รับของขวัญ และของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) ส่วนหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่นอกเหนือจากหน่วยงานที่ต้องเข้าร่วมการประเมิน ITA สามารถร่วมดำเนินการได้ด้วยความสมัครใจเช่นเดียวกัน


4. หน่วยงานภาครัฐที่ต้องประกาศตนเป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน ไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จะต้องดำเนินการในช่วงเวลาใด

คำตอบ : ต้องดำเนินการประกาศตนเป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน ไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจาก การปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy)ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป ส่วนการประเมิน ITA ต้องดำเนินการให้มี ความสอดคล้องกับระยะเวลาการประเมิน ITA ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนด


5.การรายงานผลการดำเนินการตามแบบรายงานการรับของขวัญและของกำนัลตามนโยบาย No Gift Policy ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ของแต่ละหน่วยงานไปยัง สำนักงาน ป.ป.ท. ต้องดำเนินการอย่างไร

คำตอบ : การรายงานการรับของขวัญและของกำนัลตามนโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่ ขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานรายงานผลการดำเนินการตามวงรอบการรายงานจำนวน 2 ครั้งต่อปีงบประมาณ คือ ในรอบ 6 เดือน (ภายใน 31 มี.ค. 65) และรอบ 12 เดือน (ภายใน 30 ก.ย. 65) และการรายงานฯ ให้เป็นไปตาม แบบรายงานที่สำนักงาน ป.ป.ท. กำหนด


6. นโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่ มีสภาพบังคับตามกฎหมายหรือไม่ หากไม่ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวมีความผิดหรือไม่

คำตอบ : มติคณะรัฐมนตรี กำหนดให้นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายในการป้องกันการทุจริตตั้งแต่ต้นทาง เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีจิตสำนึกในการปฏิเสธการรับของขวัญ และของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นเรื่องของการสร้างบรรทัดฐาน (norms) ใหม่ทางสังคมเป็นการสร้างวัฒนธรรมในการป้องกันการทุจริตไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย (law) จึงไม่มีสภาพบังคับ และหากไม่ปฏิบัติก็ไม่ผิดกฎหมาย แต่ในอนาคตเมื่อสังคมเห็นพ้องมากขึ้น ยอมรับมากขึ้น และวัฒนธรรมประเพณีการไม่รับของขวัญแพร่หลายมากขึ้น ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามก็อาจถูกสังคมลงโทษ หรือถูกสังคมมองว่าการรับของขวัญนั้นเป็นสิ่งที่ผิด หรือไม่ถูกต้อง


7. ในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ในแบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment: OIT) ข้อ O 34 นโยบายไม่รับของขวัญ (No Gift Policy) จะมีแนวทางการดำเนินการอย่างไร เพื่อตอบตัวชี้วัดดังกล่าว

คำตอบ : ในการดำเนินการ จะต้องดำเนินการอย่างน้อย 2 กรณี คือ

1) ประกาศเจตนารมณ์นโยบาย No Gift Policy ขององค์กรหรือหน่วยงาน โดยเป็นการประกาศของผู้บริหารสูงสุดขององค์กรเพื่อให้บุคคล หรือหน่วยงาน หรือสังคม หรือสาธารณชน รับรู้ว่า ตนเองและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนในหน่วยงานจะไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดในขณะ / ก่อน / หลังปฏิบัติหน้าที่ที่จะส่งผลให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในปัจจุบันและอนาคต และมีการเผยแพร่ประกาศดังกล่าวสู่สาธารณะในรูปแบบต่างๆ ตามบริบทของแต่ละหน่วยงาน เช่น การส่งหนังสือเวียน การจัดทำ Infographic จัดทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ และต้องมีการเผยแพร่ประกาศฯ ใน Website หลักของหน่วยงาน โดยการประกาศดังกล่าวอย่างน้อยจะต้องมีข้อความ “เป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่”


2) ปลุกจิตสำนึก หรือสร้างวัฒนธรรมองค์กร โดยมีการดำเนินกิจกรรมในลักษณะต่างๆ เพื่อปลุกจิตสำนึกและ สร้างทัศนคติ และค่านิยมที่ดี ในการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีจิตสำนึกในการปฏิเสธการรับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐต้องร่วมมือกันสร้างการรับรู้ในวัฒนธรรมองค์กรใหม่ที่จะปฏิบัติงานโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะต่างๆ ที่หลากหลายภายใต้บริบทของหน่วยงานตนเอง เช่น การจัดอบรมให้ความรู้ การจัดทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การสร้างการรับรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เมื่อดำเนินการใดๆแล้วจะต้องเผยแพร่การดำเนินการดังกล่าวใน Website หลักของหน่วยงาน


-----------------------------------------------------

เรียบเรียงโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุดม งามเมืองสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

อาจารย์อาทิตย์ ศรีชัย รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

อ้างอิงข้อมูล

  • แนวทางการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศต้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ การประกาศนโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
  • องค์กรโปร่งใสนานาชาติ (TI: Transparency International)




facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :      
ข้อมูล/ข่าว :      
เพิ่มข่าวโดย :   udom.ng@up.ac.th   
8/12/2565 19:08:45น. 1961
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2024

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน