ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยพะเยา

     มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่ถือกำเนิดจากการเป็นวิทยาเขตสารสนเทศของมหาวิทยาลัยนเรศวร มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาด้วยการกระจายโอกาสการศึกษาแก่ชุมชน และสังคม โดยระยะแรกก่อตั้ง ปี พ.ศ.2538 ได้ใช้อาคารของโรงเรียนพะเยาพิทยาคมเป็นการชั่วคราว และย้ายมาที่ตั้งถาวร ณ ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ในปี พ.ศ. 2542 บนพื้นที่ 5,158 ไร่ และสภามหาวิทยาลัยนเรศวรในคราวประชุม เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2550 ได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อ มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา เป็น มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา และต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยาขึ้น ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 “ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษา ส่งเสริมและพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการวิชาการแก่สังคม ให้โอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชน และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ”

     ปัจจุบันมหาวิทยาลัยพะเยามีศักยภาพและความพร้อมจัดการเรียนการสอนครอบคลุม ทุกสาขาวิชา ทั้งทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก มีการจัดอบรมระยะสั้น (non degree) การเรียนล่วงหน้า (pre degree) และการสะสมหน่วยกิต ตอบสนองนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะและส่งเสริมศักยภาพของประชาชนในพื้นที่ และตอบสนองความต้องการของชุมชน สังคม และตลาดแรงงาน และในการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยไทยตามประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวง อว.) เรื่องการกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษา สังกัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยาได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยกลุ่ม 3 คือ มหาวิทยาลัยพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น (Area-based and Community engagement)

     มหาวิทยาลัยพะเยามีการพัฒนามาตามลำดับและมีศักยภาพเข้าสู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกเป็นครั้งแรก ตามเกณฑ์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปี พ.ศ. 2563 และดีขึ้นเป็นลำดับถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากการจัดอันดับของ Times Higher Education World University Rankings 2024 มหาวิทยาลัยพะเยาอยู่ในอันดับที่ 12 ของประเทศไทย การจัดอันดับของ THE Impact Rankings 2023 มหาวิทยาลัยพะเยาอยู่ในอันดับที่ 9 ของประเทศไทย นอกจากนี้ การจัดอันดับของ SCImago Institutions Rankings (SIR) 2023 มหาวิทยาลัยพะเยาอยู่ในอันดับที่ 10 ของประเทศไทย และการจัดอันดับของ UI Green Metric World University Rankings 2023 มหาวิทยาลัยพะเยาอยู่ในอันดับที่ 10 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการจัดอันดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยจากหน่วยงานชั้นนำระดับโลก

     ด้วยความมุ่งมั่น มหาวิทยาลัยพะเยาสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะสูง ตามความต้องการของท้องถิ่น และพัฒนาท้องถิ่นด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2553 ตามปณิธาน “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” และสอดคล้องตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “มหาวิทยาลัย สร้างปัญญา เพื่อนวัตกรรมชุมชน สู่สากลอย่างยั่งยืน”


การบริหารงาน

     ทำเนียบนายกสภามหาวิทยาลัย

ทำเนียบนายกสภามหาวิทยาลัย
ลำดับ รายนามนายกสภามหาวิทยาลัย วาระการดำรงตำแหน่ง
1 ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ คุณหญิง ไขศรี ศรีอรุณ 20 สิงหาคม 2563 – 17 ตุลาคม 2565
2 มีนาคม 2563 – 19 สิงหาคม 2563 (รักษาการ)
2 มีนาคม 2560 – 1 มีนาคม 2563
29 ตุลาคม 2559 – 1 มีนาคม 2560 (รักษาการ)
29 ตุลาคม 2553 – 28 ตุลาคม 2559
17 กรกฎาคม 2553 – 28 ตุลาคม 2553 (รักษาการ)
2 ศาสตราจารย์พิเศษ อรรถพล ใหญ่สว่าง 18 ตุลาคม 2565 – 19 กุมภาพันธ์ 2566 (ทำหน้าที่แทน)
3 ดร. สมเกียรติ ชอบผล 20 กุมภาพันธ์ 2566 – 31 พฤษภาคม 2566 (ทำหน้าที่แทน)
4 ศาสตราจารย์พิเศษ อรรถพล ใหญ่สว่าง 20 สิงหาคม 2566 - ปัจจุบัน (รักษาการ)
1 มิถุนายน 2566 – 19 สิงหาคม 2566

     ทำเนียบอธิการบดี

ทำเนียบอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา
ลำดับ รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1 ดร.สุเมธ แย้มนุ่น 17 กรกฎาคม 2553 - 19 กันยายน 2553 (รักษาการ)
2 ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกร ดร. มณฑล สงวนเสริมศรี 11 พฤศจิกายน 2557 – 10 พฤศจิกายน 2561 (วาระที่ 2)
20 กันยายน 2557 – 10 พฤศจิกายน 2557 (รักษาการ)
20 กันยายน 2553 – 19 กันยายน 2557 (วาระที่ 1)
3 รองศาสตราจารย์ ดร. สุภกร พงศบางโพธิ์ 18 มีนาคม 2566 - ปัจจุบัน
25 ธันวาคม 2565 – 17 มีนาคม 2566 (รักษาการ)
25 ธันวาคม 2561 – 24 ธันวาคม 2565 (วาระที่ 1)
11 พฤศจิกายน 2561 – 24 ธันวาคม 2561 (รักษาการ)