ศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ในจังหวัดพะเยา พร้อมระดมกำลังบุคลากรในหน่วยงาน ประดิษฐ์อุปกรณ์ด้านการป้องกันการติดเชื้อและการช่วยเหลือคนไข้เบื้องต้น

3/4/2563 9:45:44น. 2036
ศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยพะเยา


ศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมเป็นโรงพยาบาลในการให้บริการรับคัดกรองและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Emergency Operation Center: EOC) กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดพะเยา โดยมีนายแพทย์ไกรสุข เพชระบูรณิน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพะเยา เป็นประธานในการดำเนินงาน

สำหรับการเตรียมความพร้อมเบื้องต้น บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ภายในศูนย์การแพทย์ฯ และอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกันประดิษฐ์ อุปกรณ์ด้านการช่วยเหลือคนไข้เบื้องต้น อาทิ รถเข็นเปลหาม เก้าอี้วีลแชร์ ตลอดจนการปรับปรุงพื้นที่เพื่อป้องกันการติดเชื้อ อาทิ หอผู้ป่วยรองรับผู้ป่วยติดเชื้อ (Cohort ward) ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative Pressure Room) ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เป็นไปตามมาตรฐานและความปลอดภัย พร้อมกันนี้มหาวิทยาลัยพะเยา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ได้เป็นตัวแทนรับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หมู่วัว วปอ.59 จาก พลตำรวจเอก สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยได้รับมอบชุดกาวน์ เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย พร้อมส่งต่อให้กับศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา อีกทั้งยังได้รับบริจาค จากผู้ใจบุญต่าง ๆ และภาคีเครือข่ายด้านการแพทย์ บริจาคกล่องป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ขณะใส่ท่อช่วยหายใจ (COVID BOX) เพื่อใช้ในการรักษาและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

นายแพทย์สรวิศ บุญญฐี ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า “เพื่อให้การควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในจังหวัดพะเยาสำเร็จนั้น จึงอยากรณรงค์ให้ประชาชน ดูแลตนเองตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข โดยหากไม่จำขอความร่วมมือให้ทุกคนอยู่บ้าน (อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ) และปฏิบัติตนตามมาตรการ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทั้งข้อควรปฏิบัติเวลาที่อยู่ในบ้านและพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นมาตรการหลักในเวลานี้ ที่จะช่วยให้เกิดการหยุดแพร่กระจายเชื้อ ตามหลักคิดสำคัญ “โรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกัน” รวมไปถึงการแนะนำความแตกต่างของการแยกกันสังเกตตัวเอง (Self – Quarantine) และ ข้อควรปฏิบัติของการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) เป็นต้น

         ทั้งนี้ ศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการรับคัดกรองและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และเตรียมความพร้อมด้านสถานที่รักษา สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จำนวนประมาณ 60 เตียง ที่มีอาการไม่รุนแรง ซึ่งเป็นเครือข่ายร่วมกับโรงพยาบาลพะเยา และ โรงพยาบาลเชียงคำ ในการดูแลประชาชนในพื้นที่จังหวัดพะเยา ต่อไป





facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :   งานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา , งานประชาสัมพันธ์   
ข้อมูล/ข่าว :    ข้อมูล : นายแพทย์สรวิศ บุญญฐี ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา , ณรงค์ วงค์ไชย กนกวรรณ ประภากรณ์ หัวหน้างานประชาสัมพันธ์   
เพิ่มข่าวโดย :   narong.wo@up.ac.th   
3/4/2563 9:45:44น. 2036
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2024

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน