ผู้ช่วยศาสตราจารย์วีระยุทธ หอมชื่น อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ นำเสนอบทความ ภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรน้ำโดยชุมชนพื้นที่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา

20/9/2564 9:40:58น. 622
เชียงม่วน พะเยา

ภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรน้ำโดยชุมชนพื้นที่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา*

                                                                   

 ผู้ช่วยศาสตราจารย์วีระยุทธ หอมชื่น

                                                                                        คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

 

ทรัพยากรน้ำมีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์ สัตว์ พืช และสรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายจำเป็นต้องพึ่งอาศัยเพื่อการดำรงชีพ อีกทั้ง ยังมีคุณค่าในทางเศรษฐกิจอีกด้วย ผู้ซึ่งรู้จักคุณประโยชน์ของน้ำในด้านเศรษฐกิจย่อมรู้ดีว่า ทรัพยากรน้ำได้อำนวยผลให้แก่ประเทศมากมาย เช่น พลังงานไฟฟ้า การอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การประมง การประปา ตลอดจนการลำเลียงขนส่งทางน้ำ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรน้ำก็ยังมีโทษมหันต์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น ปัญหาอุทกภัย ปัญหาภัยแล้ง เป็นต้น หากมีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ  

ปัจจุบัน ประชากรมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรน้ำมีอยู่เท่าเดิมและมีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้น้อยลง ด้วยสภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้น้ำละเหยได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ทรัพยากรน้ำบางส่วนยังปนเปื้อนมลพิษไม่เหมาะสมแก่การน้ำมาใช้เป็นผลให้เกิดปัญหาแย่งชิงน้ำมากขึ้นในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งพบเห็นได้บ่อยครั้ง จะเห็นได้ว่านับวันสถานการณ์การขาดแคลนน้ำและปัญหาการแย่งชิงน้ำจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ก็ประสบกับปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกับพื้นที่อื่น โดยกรมชลประทานได้จัดให้อำเภอเชียงม่วนอยู่ในประเภทอำเภอที่มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคแต่ขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตรเนื่องจากอยู่นอกเขตชลประทานหรือเรียกอีกอย่างว่า พื้นที่เกษตรน้ำฝนซึ่งไม่มีแหล่งน้ำที่มั่นคงมาสนับสนุนในภาวะที่เกิดภัยแล้ง ปัญหาภัยแล้งดังกล่าว มีปัจจัยที่สำคัญสองประการ ได้แก่ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากการที่ฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลายาวนาน รวมตลอดถึงไม่มีสถานที่กักเก็บน้ำ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไม่เป็นระบบ ไม่มีการวางแผนการใช้น้ำ นอกจากนี้ ปัญหาสืบเนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนน้ำดังกล่าวนั้น ยังก่อให้เกิดปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งตามมานั่นคือ ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำสำหรับเพื่อใช้ในการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงและเกิดความไม่สามัคคีของคนในชุมชน

แนวทางปฏิบัติและภูมิปัญญาของราษฎรในพื้นที่อำเภอเชียงม่วน ในการบริหารจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจากการศึกษาพบว่า มีการจัดการน้ำโดยใช้รูปแบบเหมืองฝาย ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการน้ำโดยชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะในภาคเหนือที่มีมาตั้งแต่สมัยพญามังราย ระบบเหมืองฝายเป็นการรวมกลุ่มกันในการดูแลรักษาและมีส่วนร่วมเพื่อประสานความสัมพันธ์ของกลุ่มเหมืองฝายที่เกิดจากความผูกพันต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานในการแบ่งปันผลประโยชน์ มีข้อตกลงร่วมกันและยึดถือปฏิบัติจนพัฒนากลายเป็นประเพณี (conventional law)

การจัดการเหมืองฝายมีรูปแบบการจัดการน้ำในฤดูฝนเพื่อการปลูกข้าวเป็นหลัก โดยมีองค์กรเหมืองฝายเป็นผู้บริหารหรือควบคุมดูแลการใช้น้ำและมีกฎเกณฑ์ รวมถึงบทลงโทษสำหรับผู้ละเมิดกฎดังกล่าวไว้ด้วย ซึ่งเรียกว่า สัญญาเหมืองฝาย โดยปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญด้านการจัดการน้ำ สัญญาเหมืองฝายนี้               จะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้น้ำ การระงับข้อพิพาท การแบ่งปันน้ำ การเก็บค่าน้ำ การเลือกหัวหน้าเหมืองฝ่าย และวิธีการบริหารงานขององค์กรเหมืองฝาย

อย่างไรก็ตาม ระบบเมืองฝายในพื้นที่กำลังอ่อนแอลง เนื่องมาจากสภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม บางชุมชนมีสมาชิกใหม่เข้ามาอยู่อาศัย มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเป็นที่อยู่อาศัย หรือการพัฒนาบ้านจัดสรร และสมาชิกที่เขามาอยู่ใหม่ (newcomer) ไม่ยอมรับหรือปฏิบัติตามระเบียบการใช้น้ำของชุมชน สัญญาเหมืองฝายซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญในการบริการจัดการน้ำที่สมาชิกทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติร่วมกันไม่สามารถใช้บังคับกับผู้มาอยู่ใหม่ได้ ซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำนอกกลุ่มเหมืองฝาย ทำให้สัญญาเหมืองฝายหมดความศักดิ์สิทธิ์ลง ดังนั้น ผู้ใช้น้ำนอกกลุ่มที่อยู่ต้นน้ำจึงสามารถเก็บกักน้ำ และใช้น้ำได้ตามความต้องการโดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสัญญาเหมืองฝาย นอกจากนี้ เมื่อเกิดข้อพิพาทการแย่งชิงน้ำเกิดขึ้น กลุ่มเหมืองฝ่ายยังขาดอำนาจต่อรองกับคู่ขัดแย้งเนื่องจากขาดการสนับสนุนจากรัฐในเชิงกฎหมาย

เหตุผลที่สัญญาเหมืองฝายใช้บังคับกับผู้ใช้น้ำนอกกลุ่มไม่ได้ เพราะว่าสัญญาที่ผู้ใช้น้ำทำขึ้นมีสถานะเป็นเพียงข้อตกลงร่วมกันเท่านั้น แต่ไม่มีสถานะในทางกฎหมาย ดังนั้น ควรมีการรับรองสัญญาเหมืองฝายให้มีสถานะในทางกฎหมาย ไม่เพียงแต่จะสามารถใช้บังคับได้อย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเนื้อหาของกฎหมายก็ยังสอดคล้องกับวิธีประชาของคนในท้องถิ่นอีกด้วย

 



   

facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :   uplaw   
ข้อมูล/ข่าว :    uplaw   
เพิ่มข่าวโดย :   chutnarong.ch@up.ac.th   
20/9/2564 9:40:58น. 622
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2024

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน