ม.พะเยา MOU กับองค์กรภาคีเครือข่าย 9 สถาบัน เพื่อผลิต “บัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์”

11/8/2565 12:04:33น. 798
บัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ นักฉุกเฉินการแพทย์



           มหาวิทยาลัยพะเยา โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ ร่วมเป็น 1 ใน 9 สถาบัน ลงนามความร่วมมือ “องค์กรภาคีเครือข่าย 10 สถาบัน เพื่อผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ ด้วยการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา” ตั้งเป้าผลิตจำนวนบัณฑิต 15,000 คน ใน 10 ปี จากปัจจุบันเพียงปีละ 200 คนภายในงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ศาสตราจารย์ นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นสักขีพยาน พร้อมตัวแทนผู้บริหารสถานศึกษาชั้นนำและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ รวม 10 สถาบัน ร่วมลงนามเห็นชอบ เมื่อวันอังคารที่ 2 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ หลักสี่  โดยได้รับเกียรติจาก อธิการบดีและตัวแทน 10 สถาบัน ร่วมลงนามในความร่วมมือ ประกอบด้วย
      1. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
      2. มหาวิทยาลัยมหิดล
      3. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
      4. มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
      5. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
      6. มหาวิทยาลัยพะเยา
      7. มหาวิทยาลัยบูรพา
      8. มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
      9. สถาบันพระบรมราชชนก
      10. วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
 


          การลงนามในครั้งนี้ เพื่อผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ที่ตอบโจทย์นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ด้วยการพัฒนารูปแบบการศึกษาให้ยืดหยุ่น ให้บุคคลที่ปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉินหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่หรือภูมิประเทศที่ไม่มีผู้ปฏิบัติการ หน่วยปฏิบัติการ หรือสถานพยาบาลเพียงพอ ได้มีโอกาสเข้าศึกษาโดยไม่ต้องลาศึกษาหรือเว้นจากการปฏิบัติงานประจำ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเข้าศึกษาต่างถิ่นที่อยู่ อันจะส่งผลให้มีนักฉุกเฉินการแพทย์ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นในเขตพื้นที่หรือภูมิประเทศที่ไม่มีผู้ปฏิบัติการ หน่วยปฏิบัติการ หรือสถานพยาบาลเพียงพอ และเพื่อสร้างนวัตกรรมการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในการผลิตบุคลากรสายวิชาชีพด้านสุขภาพที่เป็นสาขาขาดแคลนของประเทศ ซึ่งอาจพัฒนาเป็นเป็นต้นแบบในการผลิตบุคลากรสายวิชาชีพด้านสุขภาพสาขาอื่นได้ในอนาคต



          อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยพะเยา โดยคณะแพทยศาสตร์ เรามีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ อยู่แล้ว ซึ่งได้เปิดทำการเรียนการสอนมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี เดิมที ชื่อหลักสูตรเวชกิจฉุกเฉิน หลังจากนั้นทางสภาวิชาชีพได้เข้ามาเปลี่ยนให้เป็นฉุกเฉินการแพทย์ การผลิตบัณฑิตด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินออกไปนั้น ปัจจุบันเราเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นที่ต้องการของสังคม ซึ่งวิชาชีพนักฉุกเฉินการแพทย์กระทรวง อว. ได้ให้ความสำคัญ ต้องขอขอบคุณที่ได้ทำการเปิดหลักสูตรที่เรียกว่า Higher Education Sandbox โดยการร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อผลิตนักฉุกเฉินการแพทย์ ที่ผ่านมาสามารถผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ได้เพียงปีละ 30 คนต่อมหาวิทยาลัยเท่านั้น ซึ่งมีจำนวนที่น้อยมากไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ ทำอย่างไรถึงจะสามารถผลิตได้เยอะให้เพียงพอ ดังนั้นการจัดพิธีลงนามความร่วมมือดังกล่าวจึงมั่นใจว่าเมื่อได้เข้าร่วมมือร่วมใจกันก็จะสามารถผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ได้พอกับจำนวนความต้องการของสังคมได้มากขึ้น


          นักฉุกเฉินการแพทย์ เป็นอีกหนึ่งวิชาชีพที่มีความสำคัญอย่างมาก เพื่อให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ประชาชน ยังเป็นที่ต้องการเพิ่มเติม คาดว่าหลังจากนี้ ประเทศไทยจะมีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ระดับสูง ซึ่งมีผู้ปฏิบัติการที่เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์ เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่หรือภูมิประเทศที่ไม่มีผู้ปฏิบัติการ หน่วยปฏิบัติการ หรือสถานพยาบาลเพียงพอ อันจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน โดยได้รับการช่วยเหลือและรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น



 




facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :   กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม   
ข้อมูล/ข่าว :    ธิดาเดือน อุตยานะ นักประชาสัมพันธ์   
เพิ่มข่าวโดย :   tidaduen.ut@up.ac.th   
11/8/2565 12:04:33น. 798
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2024

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน