มหาวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมมหกรรมทุนทางวัฒนธรรม“ฟื้นใจเมือง”งานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือ : Reviving a City’s Soul Festival ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

2/3/2566 14:02:19น. 554
บุคลากร_คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์

เมื่อวันที่ 24 - 26 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา งานมหกรรม “ฟื้นใจเมือง (ภาคเหนือ)” ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดกิจกรรม “มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง : จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่ (ภาคเหนือ)” ณ ห้องประชุมประดู่แดง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมี ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวบรรยายวัตถุประสงค์ในการจัดงาน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวต้อนรับ ในงานยังมีผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียง และฝ่ายจังหวัดเชียงรายร่วมในงาน


มหาวิทยาลัยพะเยา นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมด้วย ดร.วุฒิชัย ไชยรินคำ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายคุณภาพนิสิต อาจารย์จารุวรรณ โปษยานนท์ รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดี และทีมนักวิจัยระเบียงวัฒนธรรมกว๊านพะเยา จากคณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์  และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ ได้เข้าร่วมงานมหกรรม “ฟื้นใจเมือง (ภาคเหนือ)” ณ อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นการนำเสนอรูปแบบความสำเร็จของมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่สู่สาธารณะ และนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจและสำนึกท้องถิ่น โดยภายในงานจะมีการจัดแสดงผลงานวิจัย ภายใต้กรอบการวิจัย “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่” ของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือ ที่ได้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)


ภายในงานมีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานวิจัยของโครงการระเบียงวัฒนธรรมกว๊านพะเยา มหาวิทยาลัยพะเยา และการจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 1.บริษัทไอซีเอ็ม อิเล็กทรอนิกส์ และ กลุ่มโคมไฟล้านนาป่าลานคำ จังหวัดพะเยา : ผลิตภัณฑ์โคมไฟล้านนาโซล่าเซลล์ 2.กลุ่มใบไม้ลายลักษณ์ : ผลิตภัณฑ์ ECO PRINTING ลายใบไม้ โดยใช้กระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 3. ลินชวา : ผลิตภัณฑ์ผักตบชวาของกลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านต๊ำน้ำล้อม จังหวัดพะเยา โดยกลุ่มผู้ประกอบการวัฒนธรรมทั้ง 3 กลุ่มนี้ เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมจาก 7 กลุ่ม ที่เข้าร่วมหลักสูตรผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมของโครงการวิจัยในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยากับพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดพะเยา


นอกจากนี้ โครงการวิจัยได้ร่วมนำเสนอผลงานของผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมผ่าน
แฟชั่นฟื้นใจ๋เมือง : ไม่เป็นอื่นด้วยฟื้นตัวตน ซึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพจากผู้ประกอบการ 4 กลุ่ม ได้แก่ ใบไม้ลายลักษณ์ อีสานล้านนาบ้านจำไก่ ลินชวา และ ผามฝ้าย
เชียงม่วน ภายใต้แนวคิด “จากความหลากหลายสู่อัตลักษณ์จังหวัดพะเยา
: Diversity to Unique of Phayao” ออกแบบโดยอาจารย์ปรียาชนก เกษสุวรรณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ กับ กลุ่มผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม โดยผลิตภัณฑ์ของทุกกลุ่มเป็นผลงาน
ที่ผู้ประกอบการได้ผ่านหลักสูตรผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับ พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดพะเยา

อีกทั้งภายในมหกรรมทุนทางวัฒนธรรม “ฟื้นใจเมือง” ยังได้มีการร่วมเสวนาทั้งในบทบาทของนักวิจัย และเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนงานวิจัยในพื้นที่ ดังนี้

คุณจุฬาสินี โรจนคุณกำจร อดีตนายกเทศมนตรีเมืองพะเยา ร่วมเสวนาในหัวข้อ “พลังท้องถิ่น ขับเคลื่อนพื้นที่ด้วยทุนวัฒนธรรม” ได้กล่าวว่า บทบาทผู้นำท้องถิ่นมีความสำคัญมาก เนื่องจากผู้นำท้องถิ่นสามารถกำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการประจำปี ที่สามารถนำไปบรรจุเป็นแผนปฏิบัติงานได้ ในระยะแรกของการทำงานวิจัยทางผู้นำท้องถิ่นได้จัดทำนโยบาย แผนงาน โครงการที่จะเดินต่อไปร่วมกับชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาดิฉันไม่ได้ทำเอง แต่เราทำร่วมกับชุมชนแล้วก็องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งที่อยู่ใกล้เคียงและต่างอำเภอมาร่วมเป็นเครือข่ายเดียวกันทั้ง
9 อำเภอ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เรามีอยู่และแสดงให้ทุกคนเห็นว่ามันเลอค่าอย่างไร

คุณบงกช กาญจนรัตนากร ประธานสโมสรโรตารีจังหวัดพะเยา และ ผู้ประกอบการ “นิทานบ้านต้นไม้” ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ยั่งยืน ด้วยฟื้นวิถีใหม่” ได้กล่าวว่า นิทานบ้านต้นไม้เป็นคาเฟ่เล็กๆ และก็เป็น Creative Space ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์กับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นการจัดตลาดนัดชุมชน การจัดพื้นที่ในการเรียนรู้ เวทีเสวนา หรือเวทีในการแสดง
ซึ่งได้รับผลตอบรับจากชุมชนเป็นอย่างดี รู้สึกโชคดีมากที่ได้มารู้จักกับทีมนักวิจัยระเบียงวัฒนธรรมกว๊านพะเยา ของมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งทำให้พื้นที่ตรงนี้กลายมาเป็น “พื้นที่สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม” โดยทีมวิจัยก็ได้มาให้ความรู้ในเรื่องของทักษะการเป็นผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม ซึ่งทำให้ต้นทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่เรามีอยู่ ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้นค่ะ โดยเฉพาะในส่วนของการเป็นพื้นที่ในการจัด
Workshop ทางวัฒนธรรม แล้วก็มีตลาดนัดสินค้าชุมชน รวมถึงเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชน

อาจารย์จารุวรรณ โปษยานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี และหัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมเสวนาในหัวข้อ “Wellbeing เมืองอยู่อุ่น กินม่วนใจ๋” ได้กล่าวว่า ด้วยมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นมหาวิทยาลัยที่ขับเคลื่อนด้วย Area Based อยู่แล้ว โดยนำพันธกิจของมหาวิทยาลัยมาร่วมพัฒนากับเทศบาลเมืองพะเยา ต้องขอบอกก่อนว่า Wellbeing ของทีมนักวิจัยของเราคือ “มีความสุขในการทำงาน” ระหว่างทางเราอาจจะเจออุปสรรคบ้าง แต่สุดท้ายเราก็เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยการเชิญชวนคนในท้องถิ่นที่ทำงานเป็น “Key Person” ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้การทำงานของเราบรรลุผลสำเร็จ และที่สำคัญคือโจทย์ว่าพื้นที่ต้องการอะไร ? ไม่ว่าจะท้องถิ่นหรือจังหวัด นโยบายจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ที่สำคัญคือ “คน” ทุกคนเห็นภาพ คนจะเป็นคนสร้างพื้นที่ จึงเป็นที่มาของระยะแรกที่ชื่อว่า “ฟื้นใจคน ค้นหาบ้าน ย่านเวียง ระเบียงกว๊านพะเยา” เพราะคนจะเป็นสิ่งที่ทำให้เมืองสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างยั่งยืนค่ะ



      

facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :   อาจารย์นวพร เกษสุวรรณ   
ข้อมูล/ข่าว :    อาจารย์นวพร เกษสุวรรณ/ปกบวร พูลเกษร   
เพิ่มข่าวโดย :   pokbaworn.po@up.ac.th   
2/3/2566 14:02:19น. 554
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2024

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน