คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ออกแบบหลักสูตรระยะสั้น “โภชนาการในผู้สูงอายุ” เน้นให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพเบื้องต้นด้วยหลักโภชนาการที่เหมาะสมกับวัย

2/10/2562 15:35:29น. 451
คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์,ออกแบบหลักสูตรระยะสั้น,“โภชนาการในผู้สูงอายุ”,เน้นให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพเบื้องต้นด้วยหลักโภชนาการที่เหมาะสมกับวัย,

คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ออกแบบหลักสูตรระยะสั้น “โภชนาการในผู้สูงอายุ” เน้นให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพเบื้องต้นด้วยหลักโภชนาการที่เหมาะสมกับวัย  

คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ม.พะเยา ได้นำเสนอผลงาน 1 คณะ 1 สัญลักษณ์ความสำเร็จ ภายใต้ชื่อโครงการ “สุขภาวะดีด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์” ต่อคณะกรรมการประเมินโครงการจากหน่วยงาน กองบริหารงานวิจัยและประกันคุณภาพ ณ วัดดอนไชย ต.ดอกคำใต้ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา โดยมี ดร.เนติ เงินแพทย์ หัวหน้าสาขาวิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา อาจารย์วิทวัส สัจจาพงศ์ ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายกิจการนิสิตและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและนางสาวพัชรินทร์ ใจข้อ นักวิทยาศาสตร์ คณะผู้วิจัย เป็นผู้นำเสนอผลการดำเนินโครงการ มุ่งเน้นกระบวนการทำงานตามปรัชญาของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิชาการก้าวไกล วิจัยและพัฒนา เพื่อสุขภาวะของชุมชน และปณิธานของมหาวิทยาลัย ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน

คณะผู้วิจัย เปิดเผยว่า โครงการเริ่มต้นมาจากทางองค์การบริหารส่วนตำบลดอกคำใต้ ได้ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุและกำหนดแนวทางไว้ว่า “ชราสุขใจ สูงวัยแข็งแรง” จึงได้ร่วมมือกันเพื่อจัดการเรียนการสอน เพิ่มหลักสูตรระยะสั้น “โภชนาการในผู้สูงอายุ” ให้กับนักเรียนผู้สูงอายุตำบลดอกคำใต้ ดอนไชยพุทธศาสตร์ จำนวน 32 ชั่วโมง เน้นให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพเบื้องต้นด้วยหลักโภชนาการที่เหมาะสมกับวัย โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ การสำรวจความต้องการของผู้สูงอายุ การประเมินสัดส่วนร่างกายและวัดสมรรถภาพทางกาย การออกกำลังกายแบบใช้แรงต้านในผู้สูงอายุ การวัด ชั่ง ตวง อาหารให้ถูกตามหลักโภชนาการ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กิจกรรมกาดหมั้วฮิมตาง สูงวัยสุขใจ๋ต่างวัยสุขสันต์ การอบรมทำสบู่ผสมสารสกัดสมุนไพร กิจกรรมสอบถามความต้องการ ด้วยการให้ผู้เรียนมีส่วนออกแบบการเรียน ซึ่งงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นักเรียนผู้สูงอายุได้มาเรียนรู้ร่างอาจารย์ใหญ่ ณ ห้องปฏิบัติการกายวิภาคศาสตร์ เพราะจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้กับการเรียนพระพุทธศาสนา ในการนั่งวิปัสสนากรรมฐาน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังเน้นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ ข้าวต้มตองเตยของแม่อุ๊ยแก้ว บุญมา ซึ่งเป็นขนมท้องถิ่นคล้ายข้าวต้มมัด หรือข้าวต้มลูกโยน ห่อด้วยใบเตย ที่ปัจจุบันหารับประทานได้ยากและยังไม่มีผู้สืบทอด จึงร่วมกันอนุรักษ์และนำมาปรับปรุงสูตร ปรับลดพลังงานที่ได้รับต่อจำนวน 100 กรัม จำนวนบริโภค 4 ชิ้น จากสูตรเดิมให้พลังงาน 277 กิโลแคลอรี่ สูตรที่ปรับแล้ว ให้พลังงาน 266 กิโลแคลอรี่ เป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุนชนให้มีคุณค่าทางโภชนาการและเพิ่มมูลค่าเชิงเศรษฐกิจได้ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลดอกคำใต้ส่งเสริมให้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายในกิจกรรม กาดหมั้วฮิมตาง ของชุมชน

ในโอกาสนี้ ผศ.ดร.อัจฉราภรณ์ ดวงใจ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ผศ.ดร.ธีรภัทร ศรีรัตนโชติ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ชุมชนสัมพันธ์และกิจการพิเศษ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เข้าร่วมรับฟังการสรุปผลการดำเนินโครงการอีกด้วย

รับชมภาพเพิ่มเติม Click ที่นี่





facebooktwitterline


ภาพ :   นิสิตหลักสูตรโภชนาการและโภชนบำบัด   
ข้อมูล/ข่าว :    พัชรินทร์ ใจข้อ   
เพิ่มข่าวโดย :   patcharin.ja@up.ac.th   
2/10/2562 15:35:29น. 451
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2024

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน