ม.พะเยา พัฒนาตำรับยา (ชนิดเม็ดฟู่) บำบัดผู้ป่วยติดยาเสพติด กลุ่มแอมเฟตามีน

9/8/2567 16:20:26น. 457
ม.พะเยา พัฒนาตำรับยา (ชนิดเม็ดฟู่) บำบัดผู้ป่วยติดยาเสพติด กลุ่มแอมเฟตามีน
ม.พะเยา พัฒนาตำรับยา (ชนิดเม็ดฟู่) บำบัดผู้ป่วยติดยาเสพติด
กลุ่มแอมเฟตามีน


           จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 ซึ่งได้ยกเลิกกัญชาและพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ประกอบกับข้อมูลรายงานติดตามสถานการณ์กรมราชทัณฑ์ ปี 2566 แยกตามลักษณะคดี พบว่า คดี คดียาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญที่พบมากเมื่อเทียบกับคดีอื่นที่พบในประเทศไทย จากข้อมูลข้างต้น ทีมผู้วิจัย ประกอบด้วย ภญ.ธีราธร สังหร่าย ผศ.ดร.ภญ.มาลีรักษ์ อัตต์สินทอง และดร.ปรีชา หนูทิม ได้พิจารณาและเห็นความสำคัญของการบำบัดผู้ติดยาเสพติด โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยยาเสพติดสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างราบรื่นและป้องกันการกลับไปเสพติด จึงจำเป็นจะต้องใช้กระบวนการฟื้นฟูทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ จากการรวบรวมตำรายา พบว่า ตำรับยาคัมภีร์แผนไทยของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ เล่ม 3 แสดงตำรับยาทำให้อดฝิ่น "...ให้เอาขี้ยา 2 สลึง เถาวัลย์เปรียงพอประมาณ กันชาครึ่งกำ ใบกระท่อม เอาให้มากกว่ายาอย่างอื่น ต้มกิน ให้กินตามเวลาที่เคยสูบฝิ่น เมื่อกินไป 1 ถ้วยให้เติมน้ำ 1 ถ้วย ให้ทำดังนี้จนกว่ายาจะจืด เมื่อกินจนน้ำจืดแล้ว ยังไม่หายให้ต้มกินหม้อใหม่ต่อไป..." ซึ่งตำรับนี้ต่อมาทางกระทรวงสาธารณสุขได้เปลี่ยนชื่อเป็นตำรับยาอดยาบ้า เพื่อให้ทันสมัยต่อยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้พบการใช้ฝิ่นอย่างแพร่หลายเหมือนในอดีต


           ทีมผู้วิจัยได้แสดงการทำนายสารสำคัญในการจับกับโมเลกุลเป้าหมาย kappa-opioid receptor ด้วยโปรแกรม AutoDock4.2 โดยพิจารณา binding energy, %member in cluster และ H-bond พบว่า mitragynine มีความสามารถเหนือกว่า cannabidiol (CBD), tetrahydrocannabinol (THC) และ genistein-7-O-[α-rhamnopyranosyl-(16)]-β-glucopyranoside (GTG) ตามลำดับ และพัฒนารูปแบบยาเตรียมตำรับลดการติดยาจากตำรับยาทำให้อดฝิ่นชนิดเม็ดฟู่ ประกอบด้วยกัญชา 83.32 กรัม เถาวัลย์เปรียง 56.68 กรัม ใบกระท่อม 170 กรัม และน้ำ 5 ลิตร นำไปต้มเป็นเวลา 4-6 ชั่วโมง จากนั้นนำไปกรองและนำสารสกัดไปเข้าสู่กระบวนการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง จนได้สารสกัดเป็นของแข็งสีน้ำตาลอมดำ จากนั้นนำสารสกัดที่ได้เข้าสู่การทำตำรับเม็ดฟู่ โดยการผสมกับแลคโตส โซเดียมไบคาร์บอเนต กรดทาทาริก และกรดซิตริก ซึ่งผงยาที่ได้มี angle of repose เท่ากับ 19.79 เม็ดยามีความแข็ง 10.042 กิโลกรัม ความหนา 4.573 มิลลิเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 12.738 มิลลิเมตร น้ำหนัก 0.9883 กรัม ความกร่อนร้อยละ 0.04 และเม็ดยาแตกตัวภายในเวลา 5 นาที หลังตอกเม็ดด้วยเครื่องตอกเม็ดยาอัตโนมัติแบบหมุน ในหนึ่งเม็ดพบสารสำคัญหลัก คือ mitragynine 0.0413 มิลลิกรัม พบโลหะหนักสารหนู ตะกั่วและปรอทในปริมาณที่ไม่เกินกำหนด และไม่พบแคสเมียม ไม่พบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงและเชื้อราอัลฟาท๊อกซิน ไม่พบเชื้อจุลชีพ Staphylococcus aureus, Salmonella spp., Clostridium spp., และ Escherichia coli.

อ้างอิง


1. รายงานติดตามสถาณการณ์กรมราชทัณฑ์ [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 11 กรกฎาคม 2567]. เข้าถึงได้จาก: www.correct.go.th/stathomepage/warroom.php

2. ธีราธร สังหร่าย, มาลีรักษ์ อัตต์สินทอง, ปรีชา หนูทิม. โครงการพัฒนารูปแบบยาเตรียมตำรับลดการติดยาจากตำรับยาทำให้อดฝิ่นชนิดเม็ดฟู่. มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566. 7-11 สิงหาคม 2566. โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ.



ผศ.ดร.ภญ.มาลีรักษ์ อัตต์สินทอง
อาจารย์สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา


Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2024

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน