ปฏิเสธไม่ได้ว่าสัตว์น้ำเป็นแหล่งโปรตีนที่เข้าถึงง่าย ราคาย่อมเยา และเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพ เนื่องจากมีไขมันดีและกรดอะมิโนจำเป็น (Amino acids) ที่ร่างกายต้องการ ในขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตอาหารสำหรับสัตว์น้ำกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การมองหาแหล่งอาหารทางเลือก ที่ยั่งยืนและสามารถลดต้นทุนได้ กลายเป็นสิ่งจำเป็น หนึ่งในแนวทางที่กำลังได้รับความสนใจคือการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำ หรือ Black Soldier Fly (BSF) ซึ่งเป็นแมลงที่มีโปรตีนสูงถึง 40% และสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์น้ำได้หลากหลายชนิด
.jpg)
จากบทสัมภาษณ์ของคุณอิฐสะราม แสนสุภา นักวิทยาศาสตร์สาขาเทคโนโลยีการประมง คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้กล่าวถึงปัญหาการจัดหาอาหารสัตว์น้ำ ที่ใช้ในการเรียนการสอนภายในสาขา ซึ่งมีต้นทุนสูง จึงเริ่มศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ และพบว่า การเพาะเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยในช่วงปี 2562 จึงได้เริ่มศึกษา วิจัย วิธีการเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำ เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลานิล ปลาดุกอุย ปลาหมอไทย พ่อ-แม่พันธุ์กบ
โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมไข่แมลงทหารดำจากธรรมชาติ โดยการใช้เศษผัก ผลไม้และเศษอาหารภายในศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มาเป็นอาหารเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำ ผลลัพธ์หลังจากการศึกษาทดลองเลี้ยงมาเป็นเวลา 5–6 ปี พบว่าสามารถช่วยลดต้นทุนอาหารสัตว์น้ำบางชนิดได้ในระดับถึง 100% และมีแนวโน้มขยายพื้นที่เลี้ยงเพิ่มขึ้น แต่ประสบปัญหาเรื่องอาหารที่นำมาใช้เลี้ยงหนอนแมลงทหารดำไม่เพียงพอ จึงได้ประสานกับกองทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อขอรับเศษอาหารจากโรงอาหารภายในมหาวิทยาลัยมาใช้เลี้ยงหนอนแมลงทหารดำ โดยมีการเก็บเศษอาหารทุกวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงเวลา 15.30 น.-16.00น.
.jpg)
กระบวนการเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำมีอยู่ 2 วิธีการ คือ การรวบรวมไข่จากธรรมชาติ และการเลี้ยงในโรงบิน ซึ่งเป็นระบบโรงเรือนแบบปิดที่ได้รับความนิยม โดยทั่วไปจะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 18–20 วัน ก่อนที่ตัวหนอนจะเข้าสู่ระยะดักแด้ ในช่วงแรกจะให้อาหารทุก 3 วัน และปรับเป็นทุกวันเมื่อหนอนเริ่มกินมากขึ้น เมื่อหนอนลดการกินลง แสดงว่าหนอนกำลังจะเริ่มเข้าสู่ระยะดักแด้ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์น้ำได้ หรือย้ายเข้าสู่โรงบินเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป ข้อดีของการเลี้ยงในโรงบินคือ สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ดี ส่งผลให้ได้ไข่จำนวนมากและต่อเนื่อง ปริมาณไข่ที่ได้มากกว่าการรวบรวมจากธรรมชาติ ซึ่งมักมีปัจจัยรบกวนที่ขึ้นอยู่กับสภาพแว้ดล้อมในแต่ละฤดูกาล เช่น ฝนตก แดดจัด อากาศหนาว
จากข้อมูลต้นทุนอาหารสัตว์น้ำ พบว่าอาหารสำเร็จรูปสำหรับปลากินพืชมีราคาประมาณ 300–370 บาทต่อกระสอบ(20กิโลกรัม) ส่วนปลาดุกหรือปลากินเนื้ออยู่ที่ 370–450 บาทต่อกระสอบ (20กิโลกรัม) หากใช้หนอนแมลงวันทหารดำเป็นอาหารทดแทน สามารถช่วยลดต้นทุนได้อย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มปลากินเนื้อได้แก่ปลาดุกและปลาหมอ อย่างไรก็ตาม หนอนแมลงทหารดำยังไม่เหมาะสำหรับลูกปลาขนาดเล็ก แต่สามารถใช้ได้ทันทีเมื่อปลามีขนาดใหญ่พอที่จะกินอาหารเบอร์ 2 ได้
.jpg)
.jpg)
.jpg)
การเพาะเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำ หรือ Black Soldier Fly (BSF) ไม่เพียงจะช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์น้ำเท่านั้น ยังสามารถนำไปใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์ประเภทอื่นได้อีกด้วย เช่น ไก่ เป็ด ห่าน และนกสวยงาม เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและย่อยง่าย ปัจจุบันมีตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ โดยราคาจำหน่ายไข่หนอนแมลงทหารดำอยู่ที่ ราคากรัมละ10-20 บาท หนอนแมลงทหารดำแบบตัวเป็น ๆ อยู่ที่ประมาณ 80-150 บาทต่อกิโลกรัม ดักแด้อยู่ที่ 180-250 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนหนอนอบแห้งมีราคาสูงถึง 200–400 บาทต่อกิโลกรัม และในต่างประเทศสามารถจำหน่ายได้ในราคาประมาณ 600–1,000 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการสร้างรายได้และการต่อยอดเชิงพาณิชย์จากการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันทหารดำได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณขยะอาหาร (Food Waste) ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs 12) ที่มหาวิทยาลัยพะเยาให้ความสำคัญ นอกจากนี้ทางสาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการประมง
.jpg)
ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ยังเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาและดูงานได้ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ โดยมีการจัดแสดงกระบวนการผลิตตั้งแต่การเก็บไข่ การเลี้ยงหนอน การจัดการเศษอาหาร ไปจนถึงการนำหนอนไปใช้เป็นอาหารสัตว์น้ำ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา โทร. 054-466-666 Facebook: คณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยพะเยา หรือ www.agri.up.ac.th
ข้อมูล: บทสัมภาษณ์ของคุณอิฐสะราม แสนสุภา นักวิทยาศาสตร์สาขาเทคโนโลยีการประมง คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา
เขียน / เรียบเรียง: บรรเจิด หงษ์จักร นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยพะเยา