PEA ร่วมกับ ม.พะเยา ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า Solar Rooftop กว่า 3 MW ประหยัดพลังงาน มุ่งสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว

18/11/2565 16:57:41น. 1974
ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า Solar Rooftop

         

          วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2565 อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ ร่วมกับ ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายศุภชัย เอกอุ่น เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานภายในมหาวิทยาลัยพะเยา “PEA-UP Solar Rooftop” Project Kickoff โดยมี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยา บุคลากร นิสิต ผู้บริหารและบุคลากรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หน่วยงานราชการจังหวัดพะเยา อาทิ สำนักงานพลังงาน สำนักงานอุตสาหกรรม สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง  ศูนย์ป่าไม้ เทศบาล และบริษัท TC Renewable ร่วมในพิธี ณ อาคาร 99 ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ มหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมกันนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้มอบระบบผลิตไฟฟ้า Solar Rooftop ให้แก่ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอินทรีอาสา (บ้านห้วยปุ้ม ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา) จากนั้นลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์สาธิตและแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน และจุดติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า Solar Rooftop ที่ดาดฟ้าอาคารคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร



          อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการที่ยั่งยืนและการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นอีกพันธกิจที่สำคัญยิ่งของมหาวิทยาลัย และมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมโครงการบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานในอาคารภาครัฐ กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างประหยัดด้วยพลังงานทดแทนที่มีอยู่ในธรรมชาติและอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับการบริหารจัดการพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยพะเยาได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยเชื่อมั่นในมาตรฐานและแนวทางในการดำเนินการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ให้การสนับสนุนการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) นับเป็นการยกระดับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการศึกษาการวิจัยเกี่ยวกับพลังงานที่สะอาดอีกด้วย

         การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ดำเนินโครงการบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงาน ให้กับ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยเปลี่ยนพื้นที่ว่างบนหลังคาอาคาร 13 อาคาร เพื่อติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) รวม 2.997 เมกะวัตต์ เพื่อสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยพะเยา สามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดใช้เอง และเริ่มเปิดระบบเพื่อทดลองจ่ายกระแสไฟฟ้ามาแล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละเดือนทางมหาวิทยาลัยพเยา ได้ใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากระบบ Solar Rooftop ไปแล้วเฉลี่ยเดือนละ 330,000 หน่วย ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ประมาณปีละ 3,000,000 บาท ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณปีละ 2,064 ตันคาร์บอนไดออกไซค์ และปลูกฝังให้นิสิตได้ซึมซับการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดอีกด้วย โดย PEA เป็นผู้ดำเนินการแบบครบวงจร ตั้งแต่การสำรวจ ออกแบบ และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า ระบบติดตามผลการผลิตไฟฟ้า (Energy Monitoring System)ที่ จะช่วยให้มหาวิทยาลัยพะเยาสามารถติดตาม และอ่านค่าหน่วยการผลิตไฟฟ้าจากระบบ Solar Rooftop ได้แบบ Realtime สำหรับตรวจวัดการใช้พลังงาน จำนวน 64 มิเตอร์ ใน 41 อาคาร พร้อมดูแลและบำรุงรักษาระบบตลอดระยะเวลา 25 ปี


          ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว UI Green Metric World University Ranking 2021 ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับที่ 12 ของประเทศและอันดับที่ 171 ของโลก การดำเนินโครงการกับ PEA ในครั้งนี้จะเป็นการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ช่วยให้มหาวิทยาลัยกำหนดนโยบายและเป้าหมายการลดใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 


   

facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :   พิศุทธ์ จิโรจน์กุล งานสื่อสารองค์กร   
ข้อมูล/ข่าว :    ธิดาเดือน อุตยานะ งานสื่อสารองค์กร   
เพิ่มข่าวโดย :   tidaduen.ut@up.ac.th   
18/11/2565 16:57:41น. 1974
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2024

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน