ม.พะเยา ร่วมมือ กับ เทศบาลนครตรัง และ NUS เดินหน้าสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ ขับเคลื่อน RCE สู่ความยั่งยืนระดับสากล

16/5/2568 16:19:59น. 53
Trang Learning City and UN RCE

มหาวิทยาลัยพะเยา และเทศบาลนครตรัง ร่วมกับโครงการพัฒนาศักยภาพนักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรมประชุมและติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ ณ สำนักงานเทศบาลนครตรัง โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างระบบการเรียนรู้ที่ยั่งยืน และส่งเสริมความร่วมมือกับเครือข่ายภาคีในระดับประเทศและนานาชาติ ผ่านกรอบแนวคิดศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Regional Centre of Expertise – RCE) เมื่อวันที่ 5–6 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา

การประชุมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิและภาคีเครือข่ายเข้าร่วมอย่างหลากหลาย อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา คุณวริฎฐา แก้วเกตุ จาก กสศ. Prof. Dr. Chang Tou Chuang จาก National University of Singapore รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางวราภรณ์ เดชสงคราม ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา นางกาญจนา หนูอุไร ผู้อำนวยการส่วนบริหารการศึกษา เทศบาลนครตรัง นายสุภาษิต กัณฐสุทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 6 (วัดตันตยาภิรม) และผศ.ดำรงค์ โลหะลักขณาเดช จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดยทั้งหมดร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะ หนุนเสริมแนวทางการดำเนินงาน และวางแผนการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค

เทศบาลนครตรังได้นำเสนอความก้าวหน้าในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน เช่น ห้องสมุดประชาชน การประกวด Big Book การทำ Eco-print กิจกรรม Science Show และ Nature Food รวมถึงกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม “เดินเมืองเดินคลอง” ซึ่งเปิดโอกาสให้เยาวชนได้สัมภาษณ์ชาวบ้าน เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตในพื้นที่ พร้อมทั้งมีแผนจะผลักดันให้กิจกรรมเหล่านี้ถูกบัญญัติเป็นเทศบัญญัติเพื่อสร้างความต่อเนื่องและความยั่งยืนในระยะยาว

ในเวทีเสวนา รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ ได้เสนอแนวทางการเสริมสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในเด็กและเยาวชน โดยเน้นความสำคัญของการเรียนรู้นอกห้องเรียนและส่งเสริมความรักในการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตามแนวทางของ Life Long Learning ขณะที่ Prof. Dr. Chang Tou Chuang จากประเทศสิงคโปร์ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเสนอแนวคิดใหม่ในการขยายรูปแบบการเรียนรู้ให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยี QR Code เพื่อสร้างจุดเรียนรู้ในสถานที่ต่าง ๆ และการแต่งตั้ง “Brand Ambassador” ในท้องถิ่นเพื่อเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในชุมชน

ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 มีการจัดประชุมความร่วมมือระหว่างพื้นที่นำร่องสองแห่ง ได้แก่ พะเยาและตรัง เพื่อร่วมกันวางแผนการขับเคลื่อนงานภายใต้กรอบ RCE และพัฒนาแนวคิด “ESD อันดามัน สู่ทะเลสาบ” ซึ่งมุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้ที่ผสมผสานความสัมพันธ์ระหว่างคน สัตว์ และธรรมชาติ ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ได้กล่าวถึงจุดแข็งของพะเยาที่มีนกยูงเป็นสัญลักษณ์ทางธรรมชาติ ขณะที่ตรังมีพะยูนเป็นสัตว์สำคัญ ซึ่งทั้งสองพื้นที่สามารถนำมาสร้างกระบวนการเรียนรู้เชิงอนุรักษ์ พร้อมต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หรืออาชีพในอนาคต เช่น ข้าวแบรนด์ “รำแพน” ของพะเยา หรือหลักสูตรพะยูนศึกษาของตรัง

การประชุมยังได้แบ่งแนวทางการดำเนินงานออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ การเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจร่วมกัน การสร้างเครือข่าย กระบวนการเรียนรู้สีเขียว และ Learn to Earn เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่กับการเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ผู้ช่วยศาสตรจารย์ดำรงค์ โลหะลักขณาเดช ได้กล่าวเสริมถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่าง RCE ตรัง และมาเลเซีย ซึ่งจะขยายขอบเขตการทำงานไปยังมิติด้านวัฒนธรรมและชุมชน โดยเฉพาะการออกแบบหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ผ่านวิถีชีวิตจริง ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ เช่น สึนามิ ดินสไลด์ หรือการอนุรักษ์หญ้าทะเลสำหรับพะยูน ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้มีความสมบูรณ์ในทุกมิติ ในโอกาสนี้ โรงเรียนเทศบาล 6 (วัดตันตยาภิรม) หนึ่งในโรงเรียนต้นแบบ RCE จังหวัดตรัง จะเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม RCE นานาชาติ ณ ประเทศเกาหลีใต้ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 โดยจะนำเสนอผลงานการเรียนรู้ผ่านการทำอาหารพื้นเมือง “หมี่หน่ำเหลียว” ซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตรังให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก

โครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ของเทศบาลนครตรังซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กสศ. ตั้งแต่ปี 2567 จนถึงปัจจุบัน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1.4 ล้านบาท และยังมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม อันเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาเมืองให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ยั่งยืน เชื่อมโยงสู่เวทีโลกอย่างมั่นคง

 



     

facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :   Phayao Live&Learn   
ข้อมูล/ข่าว :    ข้อมูล : Phayao Live&Learn / ข่าว : ธิดาเดือน อุตยานะ งานสื่อสารองค์กร   
เพิ่มข่าวโดย :   tidaduen.ut@up.ac.th   
16/5/2568 16:19:59น. 53
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2025

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน